Friday, 13 September 2024

วิธีตั้งพระหน้ารถ ที่ถูกตามหลักฮวงจุ้ย

เรื่องของการวางพระหน้ารถ หรือตั้งพระหน้ารถเพื่อบูชา เสริมความเป็นสิริมงคลที่ถูกวิธี ควรหันหน้าไปทางไหน หันหน้าเข้าหรือหันหน้าออก แบบไหนถูกต้องมาดูกัน

วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีตั้งพระหน้ารถตามหลักฮวงจุ้ยมาฝาก คนโดยเฉพาะคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธจะตั้งพระเอาไว้เป็นที่เคารพบูชาอยู่ในรถ ว่าจริง ๆ แล้วนั้นควรที่จะวางหรือแขวนพระในรถอย่างไร ด้วยความเชื่อที่ว่าบารมีขององค์พระท่านไม่ว่าจะเป็นพระจากสำนักไหนก็ตาม จะช่วยปกป้อง คุ้มครองตน ให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายในทุกการขับขี่

แต่สิ่งแรกก่อนที่จะไปถึงวิธีการจัดวางก็คือ ควรให้ความสำคัญกับเรืองความสมดุล เพราะหากองค์พระมีขนาดใหญ่จนเกินไปจะทำให้พลังงานของฮวงจุ้ยเสีย ทำให้เกิดเสียการสมดุล จะทำให้เกิดการบดบังทัศนวิสัยในการขับรถ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้นั่นเอง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรถที่คนนิยมบูชา

  • พระพุทธรูป ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนส่วนใหญ่มักจะมีติดรถไว้เป็นอันดับต้น ๆ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ปกป้อง และคุ้มครองให้เกิดความแคล้วคลาดปลอดภัยตลอดการเดินทาง
  • แม่ย่านาง เทพเทวดาที่มีความเชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกปักรักษา คุ้มครองยานพาหนะต่าง ๆ เช่น เรือ เครื่องบิน และรถยนต์ ซึ่งผู้ที่มีความเชื่อและเคารพบูชามักจะนำพวงมาลัย ผลไม้ หมากพลู ข้าว และน้ำดื่ม มาถวายตามโอกาสเทศกาลต่าง ๆ
  • เครื่องรางของขลังต่าง ๆ รวมถึงวัตถุมงคลอื่น  ได้แก่ กุมารทอง ผ้ายันต์ และสิ่งของอื่น ๆ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

องค์พระควรหันหน้าไปทางไหน?

ถ้าหากเราต้องการที่จะตั้งพระหรือแขวนที่หน้ารถแล้ว จะต้องหันหน้าไปทางใดนั้น นี่คงเป็นที่สงสัยและถกเถียงกันมานาน บางคนให้พระหันออกนอกถนน บางคนก็ให้หันเข้ามาหาตัวเกิดเป็นคำถามที่มีการสอบถามมาอย่างต่อเนื่องในตามศาสตร์ฮวงจุ้ยแล้ว

ตามหลักฮวงจุ้ยหลักในการตั้งพระหน้ารถนั้นควรตั้งหันหน้าออกไปทางหน้ารถหรือทิศทางเดียวกับคนขับ ตามความเชื่อคือเพื่อเป็นการเสริมดวง ให้พระได้เห็นในทิศทางเดียวกับเราเพื่อเป็นการปกป้อง คุ้มครองจากภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และเชื่อกันว่าถ้าตั้งพระหันหน้าเข้ามาในตัวรถอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนรอบตัวได้

หรือตั้งพระให้หันหน้าเข้ามาในตัวรถก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะบางคนอาจรู้สึกสบายใจ มีสติตื่นตัว เป็นเครื่องเตือนใจขณะขับขี่เมื่อได้เห็นด้านหน้าขององค์พระ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าการไหว้พระเราควรไหว้ต่อหน้าท่าน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการหันหน้าองค์พระเข้ามาในตัวรถ

ข้อควรระวังในการตั้งพระหรือวัตถุมงคลในรถ

1. เลือกขนาดให้เหมาะสม

หากต้องการที่จะตั้งพระหน้ารถ หรือบูชาวัตุมงคลต่าง ๆ ภายในรถ ควรเลือกขนาดให้เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไปจนบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายขณะขับขี่ได้

2. จัดวางในตำแหน่งที่ปลอดภัย

การวางหรือตั้งพระที่หน้ารถนั้นควรวางในตำแหน่งที่ปลอดภัย ไม่ควรตั้งทับบนแอร์แบ๊กหรือถุงลมนิรภัยเพราะหากเกิดอุบัติเหตุ พระที่ตั้งอยู่อาจถูกแรงอัดจากถุงลมนิรภัยกระเด็นมาโดนคนขับหรือผู้โดยสารภายในรถได้ ที่สำคัญควรหาที่ยึด เช่น กาวสองหน้าหรือแผ่นยางกันลื่นมาติดกับองค์พระ เพื่อป้องกันการตกหล่นในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ หากเป็นแบบแขวนควรเลือกขนาดให้เหมาะสมไม่ใหญ่หรือมีน้ำหนักมากเกินไป เวลารถเลี้ยวจะได้ไม่เหวี่ยงไปกระแทกกับกระจกหน้ารถ

3. ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป

การเชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ไม่นำมาไว้ในรถมากจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้รถดูอึดอัดคับแคบแล้ว ยังเสี่ยงอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุ และยิ่งถ้าพระ-วัตถุมงคลต่าง ๆ มีมูลค่าสูง ก็อาจถูกโจรกรรมได้

สรุป

ทั้งนี้การตั้งบูชาพระหน้ารถ หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อนั้นสามารถทำได้ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่ควรบูชาให้เหมาะสม และที่สำคัญไม่ว่าพระที่เราบูชาจะมีชื่อเสียง หรือบารมีแค่ไหนหากเราขับรถด้วยความประมาท อุบัติเหตุก็สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ คือ ความมีสติ พึงขับรถด้วยความระมัดระวังและมีสติ ไม่ขับรถประมาท ไม่ขับรถด้วยความมึนเมา หรือไม่ขับด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ขับไปด่าไป หรือเราผิดศีลทุกข้อ ไม่ว่าพระที่บ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทวดาที่ไหนก็คงไม่อยากช่วยแน่นอน ถึงแม้ว่าคุณจะมีพระดีพุทธคุณแรงแค่ไหนหรือมั่นใจในระบบของยานยนต์มากเพียงใด ถ้าเกิดความประมาทและชะล่าใจ อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่คาดคิดต่อตัวคุณเอง รวมถึงเพื่อนร่วมทางของคุณด้วย ดังนั้น ใช้ชีวิตตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เป็นศาสตร์ที่ดีที่สุด