“ใครจะปักตะไคร้ดี” เค้าว่ากันว่า… ให้สาวบริสุทธิ์ ปักตะไคร้ห้ามฝน แล้วฝนจะไม่ตก นี่คือคำพูดยอดฮิตติดปากของคนไทย ทุกครั้งที่เราจะจัดกิจกรรมสำคัญอะไรกลางแจ้ง นับตั้งแต่ชาวบ้านในชนบท จนถึงคนเมืองในออฟฟิศกรุงเทพฯ ก็ยังมีความเชื่อเรื่องนี้อยู่ แต่คุณเคยสงสัยไหมว่าความคิดเรื่องที่ว่า “การให้สาวพรหมจรรย์มาปักตะไคร้ห้ามฝน แล้วจะทำให้ฝนไม่ตก” มาจากไหนกัน
ที่มาของความเชื่อปักตะไคร้ห้ามฝน
เรื่องนี้มาจากความเชื่อโบราณของไทยที่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องดินฟ้าอากาศ อาจเป็นเพราะว่าในสมัยก่อนเพราะที่ตั้งของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ภูมิอากาศมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น ช่วงฤดูมรสุมจะมีฝนตกชุกส่งผลให้จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ดังนั้นเมื่อสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยหากต้องจัดงานสำคัญกลางแจ้ง คนโบราณก็คิดหาวิธีการไล่ฝน ซึ่งมีกล่าวถึงกันว่า “ให้สาวพรหมจรรย์ไป ปักตะไคร้ห้ามฝน” แล้วฝนจะหยุดตก”
พิธีกรรมไล่ฝน ที่ฮิตมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ “ปักตะไคร้ห้ามฝน” ซึ่งเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามาจากไหน แต่พิธีกรรมโบราณหลายอย่างมักจะเป็นการกระทำที่ “ฝืนธรรมชาติ” เพราะมีความเชื่อว่าต้องการให้เทวดาเบื้องบนโกรธที่มนุษย์ทำผิดธรรมเนียม อย่างเช่นพิธีขอฝนด้วยการแห่นางแมว ที่นำแมวมาใส่ไว้ในกรงและสาดน้ำใส่ ทั้งที่แมวเป็นสัตว์ที่กลัวน้ำอยู่แล้ว เป็นต้น
ต้องใช้ต้นตะไคร้เท่าใด
เอาจริง ๆ แล้วนั้น ปักตะไคร้ห้ามฝน เป็นความเชื่อของคนไทยที่มีมานานมาก และไม่ได้มีการระบุรายละเอียดของพิธีการว่าต้องใช้ต้นตะไคร้จำนวนเท่าใด หากแต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าต้องปักเป็นจำนวนเลขคี่ 3 ต้น หรือ 7 ต้น โดยตัดยอดออก เพื่อใช้ส่วนใบที่แข็ง ปักลงดินเพื่อให้โคนต้นตะไคร้ชี้ฟ้า
ต้อง “ปักตะไคร้” อย่างไร
พิธีปักตะไคร้ห้ามฝนก็คือการนำปลายตะไคร้ปักลงดิน ให้โคนชี้ฟ้า โดยผู้ที่ประกอบพิธีจะต้องเป็น “สาวพรหมจรรย์” และจะต้องมีลักษณะและคุณสมบัติตามนี้
- ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์
- ไม่อยู่ในช่วงมีรอบเดือน
- เป็นหญิงสาวที่ไม่ใช่เด็ก (หญิงสาวที่เคยมีประจำเดือนแล้ว) อายุไม่เกินช่วงวัยเบญจเพส
- เป็นหญิงสาวที่อยู่ในศีลในธรรม
- เป็นหญิงหม้ายที่ถือพรหมจรรย์
คาถาปักตะไคร้
เมื่อเลือกสาวพรหมจารี และเตรียมต้นตะไคร้พร้อมแล้ว คณะผู้จัดงานก็จะพาหญิงสาวไปบริเวณที่เหมาะสมเพื่อปักตะไคร้ ด้วยการท่องคาถา ดังนี้
ตั้ง นะโม 3 จบ กล่าวตั้งจิตอธิษฐาน ข้าพเจ้า และคณะผู้จัดงาน (กล่าววัตถุประสงค์จัดงาน) ขอเทพยดาและพระภูมิเจ้าที่ ช่วยสนับสนุนค้ำจุน ให้ไม่มีฝนตกและขอให้สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการรองรับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานด้วยเทอญ.
หลังจากกล่าวเสร็จแล้ว ให้ยกต้นตะไคร้ขึ้นจบระหว่างคิ้วและกล่าวคำบอกเล่าดังนี้
“ขอบารมีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเทวดาอารักษ์ โปรดช่วยดลบันดาลให้ฝนไม่ตก หรือหยุดตกและให้ท้องฟ้าเปิดสว่างไสว ให้เมฆหมอกฝนไปตกที่อื่นตามคำขอด้วยเทอญ”
“ปักตะไคร้” จำเป็นไหมต้องเป็น “สาวพรหมจรรย์”
ซึ่งอันที่จริงแล้ว ปักตะไคร้ห้ามฝน ในบางพื้นที่ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ พิธี ปักตะไคร้ห้ามฝน ในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งความเชื่อที่ว่าผู้ปักตะไคร้จะต้องเป็นลูกสาวคนหัวปีหรือลูกคนโตที่ยังไม่แต่งงาน บ้างก็ว่าต้องเป็นลูกสาวคนเล็กที่ยังไม่แต่งงาน หรือลูกโทน ไปจนถึงแม่หม้าย จึงไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะสาวพรหมจรรย์เท่านั้น หรือในพิธีกรรมโบราณมากจะให้ “เด็กหญิง” ที่ยังไม่มีประจำเดือนเป็นผู้ปักตะไคร้ ดังนั้น ความเชื่อดังกล่าวจึงจัดเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
ทั้งนี้ความเชื่อดังกล่าวนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคลและความเชื่อล้วน ๆ เพราะว่าเรื่องของธรรมชาติฟ้าฝนนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขึ้นอยู่ที่ปาฏิหาริย์และความบังเอิญ หากคุณอยากลองทำพิธีปักตะไคร้เพื่อความสบายใจก่อนเริ่มงานสำคัญ ก็ลองทำได้ แต่ไม่อยากให้คาดหวัง หรือนำวิธีการนี้ไปทดลองกับหญิงสาวที่เมื่อทำการปักแล้วฝนไม่หยุดก็นำมาล้อเลียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมแน่นอนซึ่งเป็นเหมือนบูลีได้ เพราะทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเราเองก็ยากที่จะกำหนดได้ อย่างไรก็ดีถ้าจะมีแผนการในการจัดงานใด ๆ ขอแนะนำให้ดูพยากรณ์อากาศประจำวันน่าจะดีที่สุด